KM แลกเปลี่ยนมุมมองด้านการเรียนการสอนสายวิชาท่องเที่ยว กับอ.จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา

สรุปประเด็นสำคัญจากการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง

  1. การท่องเที่ยว-ต้องเปลี่ยนเทคนิคการนำเสนอ

          การท่องเที่ยวไม่มีกรอบ ถ้าดีไซน์การท่องเที่ยวดีๆ เราจะทำอะไรได้ไม่ซ้ำเลย

          ยกตัวอย่าง วิทยากรนำเที่ยวในเส้นทางตามรอยตุ๊กตาหินที่พบในวัดพระแก้ว ช่วงบ่ายไปวัดโพธิ์ ดูตุ๊กตาศิลาจีน และฤาษีดัดตน เชิญอาจารย์ด้านแพทย์แผนไทยมาบรรยายในศาลาวัดโพธิ์

          การทำโปรแกรมให้นักศึกษา ต้องใช้เรื่องราวในการนำเสนอ ไม่ใช่แค่ให้ไปชมแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น

2. เราสามารถกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจประวัติศาสตร์ได้อย่างไรบ้าง

ประวัติศาสตร์อยู่ในตัวทุกคน บางครั้งเราฟังเพลงเก่าแล้วเราอิน เราจะร้องตามได้ ความหมายหรือกวีที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวคือประวัติศาสตร์ เราต้องทำให้นศ. เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ทำวิธีเล่าให้สนุก สอนวิธีจับประเด็นแล้วมาเล่า เช่น ทำไมต้องไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยน้ำแดง เราต้องสร้างให้เด็กรู้สึกสงสัยว่าทำไมต้องค้นคว้าเรื่องนี้ พอเราไปค้นคว้าข้อมูล สมัยก่อนใช้เลือดสัตว์ในการบูชา สมัยหลังใช้น้ำยาอุทัยทิพย์ และใช้น้ำแดงตามลำดับ

เรื่องพวกนี้เป็นวิธีคิด ต้องบอกเรื่องราวเป็นเหตุเป็นผล ต้องหาเรื่องราวพวกนี้ไปเล่าเป็น storytelling เช่น การไม่ให้ข้ามธรณีประตู เพราะในสมัยก่อนบ้านเรือนไทยฝนสาด ต้องสร้างธรณีประตูเพื่อกันฝน พอเหยียบบ่อยๆก็จะทำให้ประตูมันคลอนได้ จึงห้ามเหยียบ

3. การให้ นศ.ตั้งข้อสงสัย ต้องทำอย่างไร

ฝึกให้ นศ.คิด เช่น เอาโฆษณา-เพลง มาให้ นศ ช่วยกันวิเคราะห์ว่าทำไมโฆษณา หรือ เพลงนั้นทำไมถึงดัง แล้วช่วยกันคิด จับประเด็นว่าเรื่องราวในปัจจุบันมีอะไรอยู่ในความสนใจของคนแต่ละยุคบ้าง ยกตัวอย่างมังงะ (ที่เป็นการ์ตูน) แล้วเอามาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว

การยกตัวอย่างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น ไปอยุธยาควรเอาเรื่องใดมาเล่าถึงจะดึงความสนใจของนักศึกษาได้ อย่างเรื่องของพระนเรศวร อาจไม่ได้ลงลึกเรื่องพระประวัติ แต่ไปเน้นเล่าเรื่องศาสตราวุธแทน แล้วแทรกความรู้เรื่องศาสตราวุธเข้าไป กระบี่ กระบอง ต่างกันอย่างไร / ดาบ กระบี่ ต่างกันอย่างไร / การห่มสไบ ซ้าย ขวา ต่างกันอย่างไร ปัดไปทางไหน / ทรงผมของชนชั้นสูง ต่างกันอย่างไร

ยกตัวอย่างชุดของกะลาสี ทำไมต้องนุ่งกางเกงขาบาน ทำไมต้องมีสาบเสื้อที่คอ หรือชื่อบ้านนามเมือง ที่มาของคำว่า บาง เนิน ภู ม่อน ดอย ฯลฯ

4. การสร้างความคุ้นเคยในสิ่งใกล้ตัวให้กับนักศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้

ยกตัวอย่าง ให้ทำเส้นทางอาหารใกล้ๆมหาวิทยาลัย / ตึกเก่า ภาพเก่า เรื่องเล่า ในมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นทางต่างจังหวัดเสมอไป

5. การสร้างแบรนดิ้งของนักศึกษาคณะการท่องเที่ยวฯ ขึ้นมา

          ต้องตั้งคำถามก่อนว่า ถ้าเป็นท่องเที่ยวโรงแรมของธุรกิจบัณฑิตย์ จบไปจะเก่งอะไร เช่น ถ้าจบท่องเที่ยวศิลปากร คนจะรู้กันว่าเก่งการนำเที่ยวด้านประวัติศาสตร์

          นอกจากนั้นควรเพิ่มเติมบุคลิกภาพและทักษะการนำเสนอให้น่าสนใจ ยกตัวอย่าง วิธีการฝึกใช้ไมค์โครโฟน ไมค์โครโฟนควรอยู่ระดับไหน การยืน การนั่ง การใช้ขาตั้งไมค์ การสบสายตาขณะพูด

6. การสอดแทรกความรู้ที่จำเป็นให้กับนักศึกษา

          การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการนำเที่ยว อาจจัดบรรยายพิเศษ เชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์ในงานมัคคุเทศก์มาเล่าประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นยังควรให้ความรู้ในฐานะของนักท่องเที่ยวด้วย ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี

ประเด็นจากช่วงสนทนาและตอบคำถาม

Q: ความเห็นเรื่องนักท่องเที่ยวเปลี่ยนพฤติกรรมวิทยากรมีความเห็นอย่างไร

A:  ต้องสร้างสรรค์เส้นทางที่นักท่องเที่ยวไปเองยาก ถ้าเป็นบริษัททัวร์ ปัจจุบันแข่งขันกันที่ราคา ถ้าเราทำให้มีความพิเศษ เส้นทางนั้นก็สามารถทำการตลาดได้

Q: เราจะพูดกับนักศึกษาเรื่องที่เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างไรบ้าง

A: ตอบ ทุกคนมีเรื่องราวที่สามารถเห็นต่างได้ หากนึกถึงตัวเองว่ามีใครมาพูดจาไม่ดีที่เกี่ยวกับตัวเรา เราจะรู้สึกอย่างไร ดังนั้น สิทธิ์ หน้าที่ เสรีภาพ จะต้องไม่ล่วงละเมิดคนอื่น ยกตัวอย่าง เวลาเราเดินผ่านบ้านเก่า มีคำถามว่าทำไมไม่ทำบ้านให้สะอาด แต่ถ้ายังไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ก็ยังไม่ต้องกล่าวว่าใคร

Q: จากประสบการณ์ ลูกค้าของวิทยากรมีคนที่อายุต่ำกว่า 30 ที่เป็นวันรุ่นบ้างไหม

A: มี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ตามผู้ปกครองมา ก็จะยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวกับคนฟัง ถามความคิดเห็นแล้ว แลกเปลี่ยนกัน ยกตัวอย่าง ต้องไปเป็นคนอบรมให้กับผู้บรรยายของนิทรรศรัตนโกสินทร์ ก็ต้องหาข้อมูลว่าคนฟัง เป็นใคร เวลาจะเล่า ควรเล่าเรื่องอะไรให้คนฟัง ฟังแล้วจะไม่เบื่อ ในฐานะผู้เล่าเรื่องต้องรู้ให้กว้าง (ต้องหาจุดที่ สามารถพูดคุยภาษาเดียวกันได้) ยกตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น ตัวอย่างจากเพลง ละคร ดารา  

Q: เดี๋ยวนี้หลายคนคิดว่าไม่ต้องมีไกด์ก็เที่ยวเองได้ในปัจจุบัน วิทยากรคิดว่าปัจจุบันยังมีความต้องการมัคคุเทศก์อยู่หรือไม่

A: ยังมีความต้องการ แต่มัคคุเทศก์และผู้เล่าเรื่องต้องมีข้อมูลมากกว่าในอินเทอร์เน็ต มัคคุเทศก์ต้องหาตัวเองให้เจอว่ามีความถนัดด้านใด แล้วไปพัฒนาตนเองด้านนั้น

ข้อความนี้ถูกเขียนใน Uncategorized คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น