การขอตำแหน่งทางวิชาการ
บรรยายโดย ผศ.นงค์นุช ศรีธนาอนันต์
การดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นสิ่งสะท้อนการปฏิบัติงานของอาจารย์ในการแสวงหาและพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอน การแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมระดับต่างๆ ตำแหน่งทางวิชาการเป็นตัวชี้วัดสำคัญของคุณภาพอาจารย์และคุณภาพการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง นอกจากจะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าที่นำไปสู่ความเข้มแข็งทางวิชาการแล้ว ยังสามารถสร้างผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการโดยให้มีการเผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์ จึงเป็นความรับผิดชอบของหลักสูตร คณะ และมหาวิทยาลัย
ขั้นตอนการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน ระเบียบ กกอ.(คณะกรรมการการอุดมศึกษา) ว่าด้วย มาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบันออกระเบียบฯ พ.ศ.2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2563
โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านเกณฑ์ ผู้ขอสามารถยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ตามระเบียบหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ.2560 ได้ถึง 18 สิงหาคม 2565
ในภาพรวม องค์ประกอบการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ประกอบด้วย
- คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
- ผลการสอน
- ผลงานทางวิชาการ
- จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
เอกสารที่ควรศึกษาข้อมูลเพื่อให้เข้าใจและเตรียมผลงานให้ถูกต้องและครบถ้วน คือ
“ระเบียบ กกอ. ว่าด้วย มาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ.2563”
Click to access %20กกอ.%202563.pdf
กรณีขอรับพิจารณาตามเกณฑ์ พ.ศ.2560 สามารถอ่านข้อมูลได้จาก
“ระเบียบ กกอ. ว่าด้วย มาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ.2560”
Click to access %20กกอ.2560%20รวมไฟล์.pdf
ผู้สนใจขอรับพิจารณาควรศึกษาเอกสารแนบท้ายระเบียบ ตามลิงก์ด้านบน ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ
- แบบคำขอรับการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
- ลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ
- แบบแสดงหลักฐานการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ
- แนวทางการประเมินผลการสอน
- คำอธิบายเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอน
- แนวทางการประเมินผลงานทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิ
- ประเภทผลงานทางวิชาการ
- คำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการ
นอกจากนี้ สรุปข้อมูลการเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ พ.ศ.2563 กับ หลักเกณฑ์ พ.ศ.2560 สามารถดูได้ที่
http://acad.vru.ac.th/about_acad/academic/pdf/piya03.pdf การขอตําแหน่งทางวิชาการ. (เกณฑ์ใหม่ พ.ศ. 2563). ศ.ดร.ปิยะ โควินท์ทวีวัฒน์.
ข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.basd.mua.go.th/index.aspx (สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร)
ชมย้อนหลัง วิดีโอถ่ายทอด การประชุมสัมมนา หลักเกณฑ์และวิธีการ พิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ได้ที่ https://youtu.be/VJd99deH7u4
ชมย้อนหลัง วิดีโอบรรยาย แนวทางการขอตำแหน่งทางวิชาการตามเกณฑ์ใหม่ พ.ศ. 2563: สายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้ที่ https://youtu.be/koz0UTCKUk4
มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้อาจารย์ยื่นขอพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการเพื่อโอกาสความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพของอาจารย์ และเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียน หลักสูตร คณะ มหาวิทยาลัย รวมถึงการอุดมศึกษาไทย
ในขั้นตอนการประเมินผลการสอน สามารถขอรับการประเมินล่วงหน้าได้ 1 ปี พร้อมส่งเอกสารหลักฐานเอกสารประกอบการสอนคุณภาพดี (ผศ.) หรือ เอกสารคำสอนคุณภาพดี (รศ.) เพื่อใช้ประกอบการประเมิน
ผลงานวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จำเป็นต้องเตรียมรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์พร้อมส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกประเมิน กรณีขอข้อมูลเพิ่มเติม มีข้อสังเกตว่า ผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในการประชุมวิชาการและในวารสารภายในประเทศ ส่วนใหญ่จะได้รับการติดต่อขอโดยให้จัดส่งรายงานวิจัยสมบูรณ์เพื่อประกอบการพิจารณาประเมิน ขณะที่ผลงานที่ได้รับการเผยแพร่ในฐานข้อมูลนานาชาติมักไม่มีการร้องขอ นอกจากนี้ ผลงานวิจัยเพื่อพิจารณาต้องตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในวันที่ยื่นแบบขอรับพิจารณา